การประชุมวิชาการคุณภาพระดับภูมิภาคครั้งที่ 12

(Northeast Regional HA Forum):

จินตนาการสร้างสรรค์คุณภาพ ประจำปี 2558

ระหว่างวันที่15-17 กรกฎาคม 2558

ณ  โรงแรมพูลแมนราชา ออคิดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

เรื่อง เรียนรู้อย่างไร... ให้รู้จัก COP

วิทยากร  อ.นพ.ทรนง  พิราลัย (หัวหน้าฝ่ายจัดการความรู้  สำนักวิชาการ และบริหารการเปลี่ยนแปลง

และคุณสงวน  เค้าขาว

วันที่17 กรกฎาคม 2558 เวลา 13.00 – 14.30 .

บันทึกโดย นางนุชจรีย์ หอมนาน และนางสาวพรนิภา หาญละคร

ถอดบทเรียน นางอุบล จ๋วงพานิช

          วิทยากร อ.นพ.ทรนง  พิราลัย เกริ่นนำโดยพูดคุยกับผู้เข้าประชุมด้วยความเป็นกันเอง  พร้อมทั้งกล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้ง  COP  ที่ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2012  โดยเริ่มจากพื้นที่เสี่ยง 4 พื้นที่ ได้แก่ LR , OR , ER , ICU  ภายหลังจึงได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ        

เป้าหมาย  เพื่อให้ทุกคนมารู้จัก COP จริงๆ เป็นอย่างไร  COP มีทั้งขนาดเล็ก  ขนาดกลาง  และขนาดใหญ่ โดยใช้หลักในการเสริมพลังให้ทุกคนที่สนใจมาร่วม COP ไม่รู้สึกยุ่งยาก  มีการใช้ศาสตร์  ศิลปะ  และเทคโนโลยี อาศัยสัมพันธภาพที่ดีในการจัดกระบวนการกลุ่ม

วิทยากรเริ่มการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยให้ผู้เข้าประชุมยืนขึ้น  และบอก “ทุกคนหันหลังไปหลังห้อง”  ผู้เข้าประชุมก็พร้อมเพรียงกลับหลังหันพร้อมกัน  และตามมาด้วยเสียงหัวเราะ ฮา ฮ่า ฮ่า.. บรรยากาศในห้องประชุมเริ่มผ่อนคลาย  ผู้บรรยาย และผู้ฟังดูเป็นกันเองมากขึ้น

 

กิจกรรม ยิ่งรู้จัก  ยิ่งรักเธอ

          เริ่มกิกรรมโดย

          แจกกระดาษ A4  ให้ผู้เข้าประชุมพับเป็นอะไรก็ได้ พร้อมเปิดดนตรีเบาๆ  บางท่านพับไปยิ้มไป  บางท่านก็พับอย่างเอาจริงเอาจัง จากนั้นให้ผู้เข้าประชุมจับกลุ่ม  กลุ่มละ 3 คน โดยมีเงื่อนไขการจับกลุ่ม 2 เงื่อนไข คือ เป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักและดูภายนอกน่าจะคุยกับเรารู้เรื่อง  แล้วให้คุยเรื่องอะไรก็ได้ในเวลา 10 วินาที  บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงคุยดังก้อง ไม่มีผู้ฟัง  วิทยากรจึงแจ้งกติกาเพิ่มเติมอีกว่า  เมื่อคนหนึ่งพูด   สองคนต้องฟัง ไม่มีการถามแทรก เมื่อฟังจบ  ให้คนขวามือสะท้อน มีเวลาเล่า 2 นาที  และสะท้อนกลับ 1 นาที

วิทยากรอธิบาย เรื่องที่ใช้พูดคุย ชื่อที่อยากให้เพื่อนเรียกเรา ชื่อสิ่งประดิษฐ์  (ผลงานพับกระดาษ A4)  บอกเล่าที่มาและความหมาย ความคาดหวังในการเรียนรู้ในการประชุม HA ครั้งนี้เมื่อเริ่มกิจกรรม  เสียงการพูดคุยในห้องเริ่มดังขึ้น  แต่ไม่เหมือนการสนทนารอบแรก  เพราะมีผู้พูดเพียงกลุ่มละ 1 คน ผู้ฟัง 2 คน ที่ฟังอย่างตั้งใจ  การพูดคุยของทุกกลุ่มเต็มไปด้วยรอยยิ้ม  หลังหมดเวลาสนทนา  วิทยากรเดินสัมภาษณ์ผู้สะท้อน  ผู้สะท้อนท่านหนึ่งเล่าว่า   ได้มาพูดคุย  รับฟังอย่างตั้งใจ  ทำให้เข้าใจ  เปิดใจที่จะรับฟัง  อีกท่านหนึ่ง บอกว่า  ได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น  ได้มิตรภาพ  ไม่คาดหวัง  ไม่ด่วนตัดสินใจก่อน 

         

การทำ KM ทุกครั้งต้องมีการทำ AAR (after action review) คือ สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการทํางาน คืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คืออะไรทําไมจึงแตกต่างกัน และสิ่งที่ได้เรียนรู้และวิธีการลด/แก้ความแตกต่าง คืออะไร การทำ AAR มี 7 ขั้นตอน คือ

1. ควรทํา AAR ทันทีทันใดหรืออย่างเร็วที่สุดหลังจากจบงานนั้น

2. ไม่มีการกล่าวโทษ ซํ้าเติม ตอกยํ้าซึ่งกันและกัน ไม่มีความเป็นเจ้านายหรือลูกน้องมีแต่บรรยากาศที่เป็นกันเอง

3. มี“คุณอํานวย” คอยอํานวยความสะดวก กระตุ้น ตั้งคําถามให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของตน

4. ถามตัวคุณเองว่าสิ่งที่คุณควรได้รับคืออะไร

5. หันกลับมาดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร

6. ความแตกต่างคืออะไร ทําไมจึงต่างกัน

7. จดบันทึกเพื่อเตือนความจําว่า วิธีการใดบ้างที่คุณได้เคยนํามาแก้ปัญหาแล้ว 

 

ข้อคิดจากการจัดกิจกรรม 

KM จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่โจทย์ (ปัญหาหรือประเด็น) ต้องชัดเจนและกระบวนการดี จากการทำ กิจกรรม โดยฝึกการฟังและการเล่าเรื่อง มีการกำหนดเวลา การเลือกเกมที่ง่าย ไม่ซับซ้อนการฝึกฟังโดยไม่ตัดสิน โดยทั่วไปเรามักจะฟังแบบที่มีเสียงในหัว ทำให้ได้ยินเสียงคนอื่นน้อยลง หรือไม่ได้ยินว่าคนอื่นพูดอะไร สรุป COP คือ เครื่องมือหนึ่งใน KM เป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกันกลุ่มคนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเดียวกัน และกลุ่มคนที่แบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องเดียวกัน