งานประชุมวิชาการ Share and Learn ประจำปี 2559 “MD KKU เส้นทางสู่ Best practice”

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2559

ณ ห้องประชุมมิตรภาพ อาคารเรียนรวม ชั้น 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เวลา 13.00 – 14.00 น.

บรรยายพิเศษ หัวข้อ “KM:แบบนี้ใช่เลย”

วิทยากรโดย รศ.นพ.สุรพล  วีระศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ

ชื่อผู้บันทึก      

1.นางอุบล        จ๋วงพานิช

2. นางพนอ      เตชะอธิก  

                   3. นางถาวร      ภาวงศ์

4. นางกรรณิกา   ชาธรรม

5.นายเรวัฒน์     เอกวุฒิวงศา

เนื้อหาโดยสรุป  

การจัดการความรู้ (Knowledge Management:KM)

KMหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ซึ่งแทรกเข้ามาในวิถีชีวิตประจำวัน ภาพบางภาพ  หรือรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรอบข้าง สามารถมองเป็นงานKMแบบไม่เป็นทางการได้ ยกตัวอย่าง ภาพแม่ค้าขายผักที่มีลูกซึ่งยังเด็ก นั่งข้างๆมือช่วยหยิบจับผักเปรียบเทียบกับการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ชีวิต ถ่ายทอดความรู้ผ่านประสบการณ์ ให้อิสระในการทำ ให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจ แนะนำ coaching ให้กำลังใจ สะท้อนการถ่ายทอดความรู้ว่ามีหลายระดับ งานKM ช่วยพัฒนาคนและเพิ่มคุณค่า

วัตถุประสงค์ของการทำKM คือ การถ่ายทอดความรู้ ศูนย์รวบรวมข้อมูล สื่อสารความรู้/จัดกิจกรรม สร้างนวตกรรม/องค์ความรู้ใหม่ เชื่อมโยงVision/Mission/Value การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม พัฒนาระบบงาน/เพิ่มคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์(อ้างอิงจากดร.บุญดี บุญญากิจ)

กระบวนการในการจัดการความรู้มีดังนี้ คือ

1)การกำหนดองค์ความรู้ เช่นทุนทางปัญญา สมรรถนะ ขอบเขตงาน ทำแผนที่ความรู้ ขอบเขตงาน 

2) การเสาะแสวงหาจาก Best practice database ฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญฐานความรู้

3)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเรียนรู้ Best practice สร้างเครือข่ายความรู้ สร้างonline discussion  groups สร้างระบบการสื่อสารภายในและภายนอก  

4)สร้างองค์ความรู้เช่น การฝึกอบรม ทำวิจัย ค้นหาองค์ความรู้ใหม่และที่มีอยู่แล้ว การคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ รวมกลุ่มและช่วยกันสร้าง

5) การจัดเก็บและการใช้ความรู้ เช่นการถอดบทเรียน นำไปใช้ปฏิบัติจริง การพัฒนาคุณภาพงาน การตัดสินใจ การวางแผนกลยุทธ์ การคาดการณ์แนวโน้มขององค์กร

เหตุผลหนึ่งในการทำKM คือ การกำหนดหรือการรวบรวมองค์ความรู้สำคัญมาปฏิบัติ หากขาดการถ่ายทอดบอกเล่าให้คนอื่นรู้ต่างคนต่างทำ ขาดการสะท้อนหรือให้ข้อเสนอแนะอาจเกิดความผิดพลาดได้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญในการทำ KM  และนำมาใช้เพื่อเกิดประโยชน์ช่วยบรรลุวิสัยทัศน์ พัฒนาผลลัพธ์ตามประเด็นยุทธศาสตร์ 2P2I มุ่งบริหารองค์กรแบบมืออาชีพ ลดcost ลดระยะเวลา สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน การวิจัย  เพื่อความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้    ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นจะดีที่สุดเมื่อสามารถตอบโจทย์การพัฒนา แก้ปัญหาได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  นำสู่ผลลัพธ์ที่ดี  

ตัวอย่างผลงานจากการKMในหน่วยงานในคณะแพทย์ เช่น ธุรการมีโปรแกรมที่เอื้อการทำงานนำมาบอกต่อและทำในวงกว้างขึ้น ในทางคลินิกเองมีการพัฒนางานจากการKMหลายเรื่อง เช่นการพูดคุยกันแบ่งปันประสบการณ์/เรื่องเล่าในประเด็นปัจจัยที่ช่วยในการเปิดเส้นได้สำเร็จในเด็กในหอผู้ป่วยNICU ได้ประเด็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายอย่าง เช่นตำแหน่งที่แทงเข็ม(ชอบเปิดที่ศีรษะเพราะมองเห็นชัดเจน อยู่นาน ตรวจสอบได้) คนช่วยจับ (ต้องนิ่ง)  อารมณ์คนแทง(มีสติ ไม่หงุดหงิด)  ระบบพี่เลี้ยง(Consult พยาบาล senior) อุปกรณ์เปิดเส้น (ครบถ้วนทั้งSet เปิดเส้นรถ T-Connector Syringe2-3 m lบรรจุ NSS สำหรับทดสอบเส้น Radiant warmer  และยางรัดเส้น(ถ้าได้rubber bandจะดี) ) นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับการรับรู้และยอมรับในระดับประเทศและขยายสู่ต่างประเทศเช่น งานวิจัยด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ผลงานของศาสตราจารย์ ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย เป็นต้น

 จะเห็นว่าKM ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น เอื้อประโยชน์ในงาน คนมีความรู้ มีการปฏิบัติที่ดี นำความรู้มาถ่ายทอด ถอดบทเรียน รวบรวมเป็นคลังความรู้ เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นในการนำไปใช้ต่อยอดการพัฒนาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ลดขั้นตอนและได้ผลดี ช่วยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มคุณค่า มีความภูมิใจ เกิดความรัก การให้ ใจกว้าง พร้อมพัฒนาตนเอง ละ ลดอัตตา ได้ผลเชิงจิตวิทยา  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้มาตรฐาน

สรุปบทเรียนรู้ที่ได้รับ

  1. KM เป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยพัฒนาคน พัฒนาทีม พัฒนางาน ความสำเร็จเล็กๆสามารถต่อยอดพัฒนาได้จากการนำมาแบ่งปัน เรียนรู้ร่วมกัน
  2. ความรู้สู่การปฏิบัติที่ไม่ได้นำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสี่ยงที่จะผิดพลาดเป็นความรู้ในวงแคบ ขาดการยอมรับและการพัฒนาต่อยอด
  3. การพัฒนางานต้องได้มาตรฐาน รู้ทิศทาง ตอบสนองนโยบายขององค์กร
  4. ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนา การทำKMช่วยจุดประกายการพัฒนา สร้างแรงจูงใจ สร้างทัศนคติบวกในกระบวนการเรียนรู้ พร้อมยอมรับข้อเสนอแนะและปรับปรุง
  5. พลังของทีมมีความสำคัญ ทั้งความคิด การสื่อสาร การประสานความร่วมมือเป็นกลไกและแรงขับเคลื่อนที่มหาศาลสู่การเติบโตและพัฒนา