สุดถนอม กมลเลิศ, รัศมี ภะวะพินิจ ,ภาสกร เงางาม, บุษบา บุญกระโทก, เตือนใจ พิทยาวัฒนชัย,
โฉมพิไล นันทรักษา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การรอคิวในโรงพยาบาลเป็นปัญหาที่มีผลกระทบอย่างมากต่อประสิทธิภาพของการให้บริการและความพึงพอใจของผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการคิวจึงมีความสำคัญ ช่วยบริหารเวลารออย่างเหมาะสมและเพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการ การวิจัยเชิงพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบแอปพลิเคชันคิวสำหรับห้องตรวจผู้ป่วยนอก และศึกษาความพึงพอใจของผู้ให้และผู้รับบริการต่อการใช้งานต้นแบบแอปพลิเคชันคิวที่พัฒนาขึ้น ดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม พ.ศ. 2567 แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะก่อนพัฒนา 2) ระยะพัฒนา และ 3) ระยะประเมินผล กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ห้องตรวจเวชศาสตร์ฟื้นฟู จำนวน 10 ราย โดยเลือกแบบเจาะจง และผู้รับบริการจำนวน 392 ราย จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ระบบคิวแบบเดิมของผู้ให้และผู้รับบริการ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกผลการประชุม และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ต้นแบบแอปพลิเคชันคิวของผู้ให้และผู้รับบริการ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ระบบคิวแบบเดิมของผู้ให้และผู้รับบริการ มีค่าสัมประสิทธ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.83 และ 0.87 และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ต้นแบบแอปพลิเคชันคิว เท่ากับ 0.88 และ 0.80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า ต้นแบบแอปพลิเคชันคิวออนไลน์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคิว ลดเวลารอคอย และเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการแสดงความพึงพอใจในระดับสูง (x̅ = 4.48, S.D. = 0.60) และผู้รับบริการก็แสดงความพึงพอใจในระดับสูงเช่นเดียวกัน (x̅ = 4.46, S.D. = 0.70)
ข้อเสนอแนะ ควรพัฒนาเพิ่มระบบจองคิวออนไลน์เพื่อให้ผู้รับบริการจองคิวได้ด้วยตนเองและตามเวลาที่ต้องการคำสำคัญ: คิวดิจิทัล, ห้องตรวจผู้ป่วยนอก, การบริหารจัดการคิว, ความพึงพอใจ, เวลารอคอย