Sudthanom Kamollerd M.Sc.** Pasakorn Ngoangam M.N.S.***
Bhussaba Bungrathok B.N.S.*** Jongkol Poltree Ph.D.*** Nipapun Rittirod B.A.***
บทคัดย่อ
องค์กรพยาบาลต้องพิจารณากำหนดตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนผลลัพธ์การบริหารองค์กร เพื่อยกระดับคุณภาพบริการการพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ ผู้บริหารสามารถติดตาม ประเมินผลได้ การวิจัยนี้เป็นวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ ขั้นการวางแผน ขั้นปฏิบัติ ขั้นการสังเกต และขั้นการสะท้อนผล ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรายงานและติดตามตัวชี้วัดทางการพยาบาล ศึกษาความคิดเห็นของพยาบาลระดับบริหารและพยาบาลสารสนเทศประจำหอผู้ป่วย (IT ward nurse : ITWN) ต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อรายงานและติดตามตัวชี้วัดทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้น
กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้บริหารทางการพยาบาล จำนวน 40 คน และกลุ่มผู้วิจัยร่วม ประกอบด้วย ITWN ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จำนวน 53 คน จาก 21 งานการพยาบาล เครื่องมือที่ใช้วิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกผลการประชุม แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจของพยาบาลระดับบริหารและ ITWN ต่อการใช้งานระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อประสิทธิภาพและแบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบสารสนเทศ มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.95 และ 0.97 ตามลำดับ ความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อรายงานและติดตามตัวชี้วัดทางการพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา วิเคราะห์เนื้อหาและจัดหมวดหมู่
ผลการวิจัย พบว่าระบบสารสนเทศเพื่อรายงานและติดตามตัวชี้วัดทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นเป็นระบบออนไลน์และรายงานผลทันเวลา ความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจต่อการใช้ระบบของพยาบาลระดับบริหารและ ITWN ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=4.35, SD=0.498 และ =4.32, SD=0.512) ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ ควรมีการเผยแพร่ระบบสารสนเทศเพื่อรายงานและติดตามตัวชี้วัดทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัยนี้ให้หน่วยงานที่สนใจนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปและควรพัฒนาเชื่อมโยงตัวชี้วัดกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในโรงพยาบาลหรือระดับคณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้ข้อมูลร่วมกันมากที่สุด
คำสำคัญ : การพัฒนาระบบสารสนเทศ ตัวชี้วัดทางการพยาบาล ประสิทธิภาพ ความพึงพอใจ รายงาน