research-nurse

ลังจากที่ดิฉันไปฟังท่านอาจารย์ ดร โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ พูดเรื่อง “สิบขั้นง่ายๆ...สู่นักวิจัยชั้นเทพ”

 มีหลายคนเขียนถึงเรื่องนี้ค่ะ

   คุณติ๋ว กฤษณาP “สิบขั้นง่ายๆ...สู่นักวิจัยชั้นเทพ” 

  และมีคุณน้ำชา P 10 ขั้นง่ายๆสู่นักวิจัยชั้นเทพ

  มีการนำรายละเอียดมาพูดอย่างละเอียดดีแล้วค่ะ แต่ดิฉันอยากนำเสนอเพื่อมายืนยันว่าถ้าเราทำได้ตามขั้นตอนทั้ง 10 ในเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2 จะตามมาค่ะ

ขั้นตอนแรก  หาเรื่องที่อยากทำ

เราต้องหาเรื่องที่สนใจก่อนว่าอยากทำเรื่องอะไร  ชื่อเรื่องอาจจะยังไม่สละสลวยก็ช่างเถอะค่อยๆเหลาชื่อให้แหลมไปเรื่อยๆก็ได้ โดยมากเราก็ต้องคิดมาจากประเด็นปัญหาที่ทำงานนั่นเอง  ข้อสำคัญต้องคุยกันในที่ทำงานก่อนว่าเราจะทำเรื่องอะไร เพราะถ้าทำเสร็จจะได้มีคนนำผลวิจัยเรามาใช้ได้

ขั้นตอนที่ 2 ทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมา

เมื่อเราได้เรื่องที่จะทำวิจัยแล้ว เราต้องเริ่มการค้นคว้าว่าใครทำเรื่องทำนองนี้มาแล้ว มีทฤษฎีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ปัญหาในขั้นตอนนี้เมื่อทบทวนงานวิจัยมาได้แล้ว ถ้าเราลืมใส่ความเห็นของตัวเอง โดยเรานำเรื่องที่เราค้นหามาได้มาเรียงๆกัน  แปลว่าเรานำมาตัดแปะ (Copy& Paste) อย่าลืมขมวดความคิดเห็นของเราด้วย

ขั้นตอนที่ 3 กำหนดวัตถุประสงค์

ควรกระชับ ชัดเจน ไม่ต้องอยากรู้มากเกินไป สำคัญว่าเราอยากรู้อะไร จากที่รู้แล้ว อยากรู้อะไรอีก ต้องถามตัวเองเสมอว่า งานที่ทำใหญ่เกินไปไหม...

ขั้นตอนที่ 4 ตั้งคำถามวิจัย

ต้องเหลาคำถามวิจัยให้คมชัด ถ้าเราถามอะไร เราก็ต้องหาคำตอบให้ตรงคำถาม เพราะคำถามจะเป็นตัวกำหนดระเบียบวิธีวิจัย ปัญหาในขั้นตอนนี้คือ ขาดความเฉพาะเจาะจง ถ้าเราตั้งคำถามวิจัยแล้วได้คำตอบที่ไม่ทำให้เราฉลาดขึ้น ก็ไม่ต้องทำวิจัย คำถามวิจัยไม่ใช่คำถามที่จะใช้ถามกลุ่มตัวอย่างของเรา  แต่คำถามวิจัยมีไว้เพื่อกำหนดวิธีวิจัย ดังนั้นคำถามวิจัย ให้เราเก็บไว้ในใจตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น

ขั้นตอนที่ 5 กำหนดวิธีการวิจัย

การคัดเลือกวิธีวิจัยว่าจะเป็นแบบไหน  ก็ขึ้นอยู่กับคำถามวิจัย จะเป็นเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ ( วิจัยเชิงบรรยาย วิจัยเชิงทดลอง วิจัยหาความสัมพันธ์ วิจัยเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ)

ขั้นตอนที่ 6 เริ่มเก็บข้อมูล

เก็บข้อมูลให้เป็นระบบ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากถ้าบริหารจัดการงานวิจัยไม่ดี จะทำให้งานวิจัยล่าช้า  ถ้าเครื่องมือวิจัยดี มีการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี ผู้วิจัย ผู้ช่วยวิจัยดี บันทึกดี และมีการทบทวนกระบวนการทำวิจัยเสมอจะทำให้เราได้ข้อมูลสมบูรณ์

ขั้นตอนที่ 7  สรุปผลวิจัย

ผลการวิจัยหรือสิ่งที่เราค้นพบได้อะไรใหม่ๆไหม  ข้อค้นพบจะต้องสรุปให้กระชับ สร้างสรรค์และมีความสำคัญเพราะเราจะต้องนำผลจากการทำวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หัวใจที่จะทำให้ทำได้ดี จะต้องอ่านแล้วอ่านอีกและสามารถสังเคราะห์งานวิจัยให้ได้ จึงจะได้ความรู้ใหม่

ขั้นตอนที่ 8  เขียนบทคัดย่อ

การเขียนบทคัดย่อไว้ จะทำให้เรามองภาพรวมทั้งหมดได้ชัด เพื่อเราจะได้ไม่หลงประเด็น เดินถูกทาง ไม่เดินสะเปะสะปะ และสามารถนำข้อมูลที่จำเป็นมาใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ขั้นตอนที่ 9 เผยแพร่งานวิจัย

นำเสนอสิ่งที่เราค้นพบมาได้ให้มีพลัง การนำเสนอมีหลายแบบ คือ การเขียนรายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร (manuscript)ประมาณ 8-10 หน้า เราต้องตั้งเป้าหมายไปเลยว่าจะตีพิมพ์วารสารไหน เราก็เขียนตามข้อกำหนดของวารสารนั้น การทำวิจัยทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นเล่มๆให้เหนื่อยอีกต่อไป  ถ้าเราจะไปนำเสนอแบบ oral presentation หรือ Poster presentation ที่ไหน เราก็เขียนตามข้อกำหนดของที่นั้นๆ หรือนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) เราก็นำประเด็นที่น่าสนใจไป ลปรร เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 10 ทำวิจัยบ่อยๆ จะเป็นเทพแน่นอน

ขั้นตอนสุดท้าย ทำวิจัยบ่อยๆเราจะเป็เทพเอง ให้จำไว้ว่า ...งานวิจัยเรื่องแรกจะน่าอายเสมอ การทำวิจัยเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ เป็นเครื่องมือผลิตความรู้ (Education tool) และเสริมอำนาจ (Empowering tool)

สรุปว่า

การทำวิจัย ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งทำยิ่งอยากรู้ ทำเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2,3,4,5,6 จะตามมา การทำวิจัยในหน่วยงานเรา ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ ดิฉันยืนยัน ยิ่งทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย แล้วนำผลงานวิจัยมาใช้ ถ้ายังช่องว่าง (Research gap) ตรงไหนก็ทำวิจัยอีก หมุนวนไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้แนวปฏิบัติการพยาบาลที่ดีที่สุด (Clinical Nursing practice guideline)  นำไปสู่ Best practice

ผลลัพธ์สุดท้ายของการวิจัย

จะต้องเกิดประโยชน์กับผู้มาใช้บริการผู้ป่วยเสมอค่ะ นอกจากนี้จะลืมไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้ทำด้วย เพราะจะเกิดความภาคภูมิใจและเกิดประโยชน์กับองค์กรของเราและองค์กรอื่นๆด้วยเช่นกัน

  ขอขอบพระคุณ

  ท่านอาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่มาจุดประกาย ทำเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆได้ในพริบตา

  หวังว่าทุกคนที่เข้ามาอ่านจะไปเริ่มต้นทำวิจัยง่ายในหน่วยงานตนเองนะคะ เริ่มจากงานประจำของเราก่อนมาทำให้เป็นงานวิจัย (R2R)จะเริ่มได้ง่ายที่สุดค่ะ

  อ่านเพิ่มเติมที่  http://gotoknow.org/blog/nurseresearch/316905