งานวิเคราะห์ เรื่อง ประเมินผลลัพธ์ของระบบการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง
ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น
กัลยารัตน์ หล้าธรรม พย.ม.(การพยาบาลผู้ใหญ่)
บทคัดย่อ
การวิเคราะห์งานครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินผลลัพธ์ของระบบการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงที่ห้องกู้ชีพ ประกอบด้วยผลลัพธ์ด้านการบริการและผลลัพธ์ด้านคลินิกโดยใช้ Donabedian model เป็นกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์งาน กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นที่เข้ารับการรักษาที่ห้องกู้ชีพ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 268 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่
1) แบบบันทึกข้อมูลคุณลักษณะทั่วไป การเจ็บป่วยและการบริการของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น
2) แบบประเมินการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงตามเกณฑ์ เชิงโครงสร้าง เชิงกระบวนการและเชิงผลลัพธ์ในห้องกู้ชีพ
3) แบบบันทึกระยะเวลาการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงในห้องกู้ชีพ 4) แบบบันทึกผลลัพธ์อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นในห้องกู้ชีพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ผลการวิเคราะห์ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน 173 คน คิดเป็นร้อยละ 64.55 มีอายุเฉลี่ย 54 ปี (SD = 21.45) สาเหตุของภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นที่พบมากที่สุด คือ สาเหตุจากอุบัติเหตุและระบบหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 58 คน คิดเป็นร้อยละ 21.64 ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่พบมากที่สุด คือ Asystole และ PEA จำนวน 229 คน คิดเป็นร้อยละ 85.45 ด้านกระบวนการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง พบว่า ผลการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงของพยาบาล เชิงโครงสร้างพยาบาลปฏิบัติได้เฉลี่ยร้อย 100 เชิงกระบวนการพยาบาลปฏิบัติได้เฉลี่ยร้อยละ 98.51 และเชิงผลลัพธ์พยาบาลปฏิบัติได้เฉลี่ยร้อยละ 99.54 กลุ่มเป้าหมายได้รับการเข้าถึงในเวลา 0-1 นาที โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 0.01 นาที (SD = 0.12) ได้รับการเริ่มกดหน้าอกในระยะเวล 0-1 นาที โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 0.12 นาที (SD = 0.12) ได้รับการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าในระยะเวลา 1-5 นาที โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 0.03 นาที (SD = 0.05) ระยะเวลาตั้งแต่ประเมินได้ว่าผู้ป่วยมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด PEA/Asystole จนได้รับยา Adrenaline โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 0.03 นาที (SD = 0.05) และมีอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นในห้องกู้ชีพร้อยละ 42.54
ข้อเสนอแนะ
1) ควรนำผลการปฏิบัติที่พยาบาลยังปฏิบัติได้น้อย เช่น การต่อเครื่อง capnography เพื่อวัดค่า End-tidal CO2 มาสะท้อนผลแก่ทีมผู้ช่วยเหลือทางการพยาบาลและติดตามประเมินผลในการปฏิบัติในครั้งต่อไป
2) หน่วยงานอื่นสามารถนำรูปแบบการการประเมินผลลัพธ์ในงานวิเคราะห์ไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนเองที่มีบริบทที่คล้ายกันได้